ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 13 ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้เป็นตัวอักษรหลายแห่งหรือเป็นตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลายแห่งนั้นไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ | |||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2557 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรืออัตรา เอ็ม.โอ.อาร์. เป็นอัตราสูงสุดที่จะเรียกจากลูกค้าทั่วไป หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้แตกต่างระหว่างลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับลูกค้าทั่วไปด้วยวิธีบวกส่วนต่างเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี แต่ทั้งนี้เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป มิใช่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนด "ส่วนต่างที่จะใช้บวก" ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกันเพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 และ 13 เมื่อต้องมีการคำนวณหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกันใหม่โดยใช้ดอกเบี้ยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด จึงต้องนำเงินที่จำเลยนำเข้าชำระรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งไปหักออกจากหนี้ที่ค้างชำระด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษาให้หักเงินดังกล่าวออกไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5021/2540 ฎีกาจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มและให้คู่ความสืบพยานในประเด็นที่กำหนดใหม่จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535มาตรา 11 และมาตรา 13 นั้น ให้ถือว่ามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับนั้นยังคงใช้ตราสารก่อตั้งมูลนิธิเป็นข้อบังคับต่อไป เว้นแต่มูลนิธินั้นถูกคำสั่งศาลให้ยกเลิกตามบทบัญญัติในมาตรา 13 ดังกล่าวเมื่อตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนและเหรัญญิกร่วมกันลงลายมือชื่อกระทำการแทนมูลนิธิได้ การมอบอำนาจให้ ส.หรือว.ฟ้องจำเลย มีผู้จัดการมูลนิธิและเหรัญญิกลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตรามูลนิธิโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์เป็นมูลนิธิซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการกุศลในทางพุทธศาสนา แต่เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวกับโจทก์เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่คืนแถวให้โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องรับขับไล่จำเลยอันเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายได้ กรณีไม่ถือว่าขัดต่อวัตถุประสงค์มูลนิธิโจทก์แต่อย่างใด คำให้การจำเลยเรื่องจำเลยออกเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่ ส. และ ม. นั้น แม้หากจะมีข้อตกลงอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ระหว่างจำเลยกับ ส. และ ม. จริงก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่เกี่ยวกับโจทก์ จะนำมาบังคับเอากับโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ตึกแถวพิพาทไม่ได้ ศาลชั้นต้นไม่กำหนดข้อต่อสู้จำเลยข้อนี้เป็นประเด็นจึงชอบแล้ว
|